นายอุเทน  ศรีนอก
นายอุเทน ศรีนอก
นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสมาใหญ่
ข้อมูล อบต.
บุคลากร
ข้อมูล การดำเนินงาน
จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์
online ขณะนี้
   คน
สถิติวันนี้
1208   คน
สถิติทั้งหมด
114318   คน
เริ่มนับวันที่ 29 พฤษภาคม 2555

ประวัติพระครูจันทรสรคุณ (หลวงปู่เสี่ยง) วัดจันทรังษีมุนีวงษ์ (วัดเสมาใหญ่) จังหวัดนครราชสีมา 

ลงข่าว : 16/05/2568

ประวัติพระครูจันทรสรคุณ (หลวงปู่เสี่ยง) วัดจันทรังษีมุนีวงษ์ (วัดเสมาใหญ่) จังหวัดนครราชสีมา
*** พระครูจันทรสรคุณ (หลวงปู่เสี่ยง) ***
หลวงปู่เสี่ยง ท่านเกิดในปี พ.ศ.2410 ที่บ้านเสมาใหญ่ ตำบลตะหนิน อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา โยมบิดาชื่อบุญตา ตำแหน่งเสมียน โยมมารดาชื่อจันทร์ เมื่ออายุได้ 8 ขวบ บิดามารดานำไปฝากเรียนหนังสืออยู่ที่วัดเสมาเหนือ (วัดน้อย) กับหลวงพ่อมุ่ง เจ้าอาวาส พอถึงปี พ.ศ.2425 อายุได้ 15 ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดนี้เอง ได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือกับพระอุปัชฌาย์ มีปัญญาแตกฉาน และในปี พ.ศ.2430 อายุครบ 20 ปี จึงได้อุปสมบทที่วัดเสมาใหญ่ โดยมีพระอธิการแก้วเป็นพระอุปัชฌาย์
เมื่อท่านได้อุปสมบทแล้วก็ได้อยู่จำพรรษาที่วัดเหนือ เมื่อออกพรรษาไปเรียนหนังสือมูลบทศัพท์แปลที่วัดหนองแขม อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น 1 ปี แล้วไปเรียนต่อที่จังหวัดหนองคาย 8 ปี จนจบหลักสูตรในสำนักนั้น ต่อมาท่านเป็นโรคเหน็บชา จึงได้กราบลาอาจารย์กลับมาพักรักษาตัวที่บ้านใหม่นาเพียงอำเภอพล จนหายดี ด้วยความเพียรพยายาม ยังเห็นว่าความรู้ที่ไปเรียนยังไม่พอ จึงกราบลาพระอุปัชฌาย์เดินทางมาศึกษาพระปริยัติธรรมและมูลกัจจายต่อที่กรุงเก่า อาศัยอยู่ที่วัดพนมยงค์ รวม 8 ปี จนสำเร็จการศึกษาที่วัด
จากนั้นท่านก็ได้ปฏิบัติธรรมวิปัสสนาธุระ ในฤดูแล้งก็ออกเดินรุกขมูล ไปตามป่า ภูเขาและถ้ำ ประมาณ 7 ปี ในการออกรุกขมูลท่านได้เล่าเรียนวิชาต่างๆ กับพระอาจารย์ต่างๆ จนแก่กล้า หลังจากที่ได้เห็นว่าอยู่ป่าพอแก่ความต้องการแล้ว ท่านจึงได้กลับมาจำพรรษายังวัดเสมาใหญ่และได้รับอาราธนาให้เป็นเจ้าอาวาส กิจกรรมต่างๆ ที่ท่านได้ปฏิบัติเมื่อเป็นเจ้าอาวาสอยู่ได้มีการอบรมศีลธรรมแก่ชาวบ้าน สร้างโรงเรียนให้ลูกหลานชาวบ้านได้ศึกษา ต่อมาสมเด็จพระโพธิวงศาจารย์ ในขณะนั้น ได้ออกตรวจราชการและได้แวะที่วัดนี้ ได้เห็นกิจกรรมต่างๆในวัดเจริญรุดหน้าและเรียบร้อยจึงได้แต่งตั้งหลวงปู่เสี่ยงเป็นพระอุปัชฌาย์วิเชียร ต่อมาก็ได้เลื่อนเป็นพระครูกรรมการศึกษาในปี พ.ศ.2479 จนกระทั่งปี พ.ศ.2481 ได้รับตราตั้งเป็นพระครูจันทรสรคุณ เจ้าคณะอำเภอ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2481
หลวงปู่เสี่ยงท่านเป็นผู้มีทรวดทรงสูงสง่า ขาวโปร่ง นุ่งห่มเรียบร้อย มีญาณแก่กล้า จึงมีลูกศิษย์ มากมาย และมีชื่อเสียงมากในจังหวัดนครราชสีมา วัตถุมงคลที่หลวงปู่เสี่ยงได้สร้างไว้หลายอย่างเหมือนกัน เช่น เหรียญรูปเหมือนท่าน พระผงรูปเหมือน และผ้ายันต์ เป็นต้น วัตถุมงคลต่างๆ มีผู้มาขอไปติดตัว
มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่าในระหว่างที่หลวงปู่เสี่ยงยังมีชีวิตอยู่นั้น เวลามีงานประจำปีของวัดจะมีผู้คนหลั่งไหลมาทั่วทุกสารทิศ มากราบขอพรและขอเครื่องรางของขลังจากท่าน จนเต็มบริเวณวัดทั้งขณะที่ในสมัยนั้นการเดินทางยากลำบากต้องใช้เกวียนเป็นพาหนะ ดังนั้น ภายในวัดจึงเต็มไปด้วยเกวียนพักแรม
ตลอดเวลาที่หลวงปู่เสี่ยงเป็นเจ้าอาวาสนั้น ได้พัฒนาวัด สร้างโรงเรียนปริยัติธรรม ศาลาการเปรียญ ต่อเติมกุฏิและซ่อมแซมโบสถ์ ปกครองลูกวัดด้วยความเรียบร้อย
การอาพาธ ท่านได้อาพาธก่อนมรณภาพอยู่ 7 วัน คือนับแต่วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2498 ถึงวันพุธ ที่ 14 กันยายน 2498 เป็นวันแตกดับ พระเถรานุเถระ นายแพทย์แผนโบราณและแผนปัจจุบัน ได้ถวายให้การพยาบาลเป็นอย่างดี อาการมีแต่ทรงกับทรุดถึงแม้โรคาพาธมีพิษแรงกล้าเข้าครอบงำเช่นนั้นก็ตาม ท่านไม่ได้ทุรนทุราย คงรักษาความปกติไว้ได้เช่นเดิม พอถึงเวลา 9.12 น.อาการเงียบสนิทหายไปเหมือนคนที่หลับก็ปรากฏขึ้น ท่านจึงได้มรณภาพด้วยอาการสงบ สิริอายุได้ 88 ปี พรรษาที่ 68
*** ขอแถม เกร็ดความรู้เสริมเรื่องนกหัสดีลิงค์กระพริบตาได้ในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่เสี่ยง ***
มีเรื่องเล่าต่อๆกันมาว่าในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่เสี่ยงนั้น นกหัสดีลิงค์ที่ใช้ประกอบในการพระราชทานเพลิงศพกระพริบตาได้ ???
ซึ่งคนที่ไม่รู้เรื่องก็จะคุยต่อๆไป จากกระพริบตาจนกลายเป็นนกมีชีวิตจริงๆ เรื่องนี้จากการค้นคว้า แอดมินก็ขอยืนยันว่าจริงครับ นกกระพริบตาจริงๆ
การทำพิธีศพบุคคลที่มีบุญมาก มักจะทำพิธีศพ โดยจะทำเป็นปราสาทศพรูปนกหัสดีลิงค์ เพราะมีความเชื่อกันว่านกหัสดีลิงค์ สามารถนำดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่สวรรค์ได้
ซึ่งนกหัสดีลิงค์จะถูกทำให้เหมือนมีชีวิต เช่น กระพริบตากระพือปีก มีเสียงร้อง ทั้งหมดใช้กลไกโดยมีคนบังคับอยู่ภายใน
ตามประเพณีก่อนการเผาศพก็ต้องมีการฆ่านกเสียก่อน เช่น การยิงด้วยธนู คนในนกก็จะส่งเสียงกู่ร้องเหมือนนกบาดเจ็บ จนสิ้นใจ เมื่อสมมุติว่านกตายแล้วจึงจะทำการเผาศพ


เข้าชม : 45